“ไทยดีไอแมชีน” เว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอมเปิดให้ประชาชนตรวจสอบข่าวปลอมได้ด้วยตนเอง ใส่ข้อความที่สงสัย กดคำสั่งตรวจสอบ ทราบผล ใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนแชร์ข่าว ช่วยชะลอการแพร่กระจาย ลดปัญหาข่าวปลอม กระตุ้นให้สามารถจัดการข่าวปลอมได้ด้วยตนเอง
รองศาสตราจารย์ ดร. พนม คลี่ฉายา หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยฯ DIRU คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำผลงานวิจัยพัฒนาเว็บไซต์ตรวจสอบข่าวปลอม “ไทยดีไอแมชีน” (THAI D.I. MACHINE) เปิดให้ประชาชนทุกคนสามารถใช้งานได้ผ่าน www.thaidimachine.org เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบความเป็นไปได้เบื้องต้นว่าข่าวนั้นเป็นข่าวจริงหรือปลอมด้วยการวิเคราะห์ด้วยภาษา คำ ข้อความ (มิใช่การพิสูจน์ด้วยผู้เชี่ยวชาญ) โดยผู้ใช้งานพิมพ์หรือคัดลอกคำ ข้อความข่าวที่สงสัยวางลงในกล่องข้อความตรวจสอบ กดปุ่มคำสั่งตรวจสอบแล้วรอสักครู่ เว็บไซต์จะแสดงผลการตรวจสอบให้ทราบ 5 ระดับ คือ ข่าวจริง ข่าวปลอม มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวจริง มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวปลอม และข่าวน่าสงสัย
การตรวจสอบข่าวใช้หลักการตรวจสอบด้วยวิธีการสืบค้นข้อมูลสารสนเทศจากข้อมูลขนาดใหญ่บนอินเทอร์เน็ต โดยนำข้อมูลข่าวสืบค้นไปวิเคราะห์ด้วยวิธีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) โดยเป็นการวิเคราะห์คำ ข้อความ ประโยค และวัดความคล้ายของข้อมูลข่าวสืบค้นเทียบกับข้อมูลขนาดใหญ่บนอินเทอร์เน็ต และประมวลผลข่าวที่มีความคล้ายกันสูงผ่านเกณฑ์ที่ตั้งไว้เพื่อนำไปวิเคราะห์หาลักษณะข่าวและจำแนกข่าวว่าเป็น ข่าวจริง ข่าวปลอม มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวจริง มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นข่าวปลอม หรือข่าวน่าสงสัย
ด้วยวิธีการเรียนรู้ของเครื่องแบบระบบผู้เชี่ยวชาญ (Expert System based Machine Learning) เป็นการใช้ฐานกฎหรือความรู้ (Rule Base or Knowledge) เกี่ยวกับข่าวในการจำแนกข่าว ระบบผู้เชี่ยวชาญสามารถเรียนรู้ให้ฉลาดขึ้นจากข้อมูลข่าวที่สืบค้นเองอย่างต่อเนื่อง และข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญจะป้อนกลับข้อคิดเห็นเกี่ยวกับข่าวเข้าสู่เครื่อง เพื่อการเรียนรู้ข่าวที่เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นการพัฒนาความสามารถในการตรวจสอบข่าวที่ถูกต้องและแม่นยำขึ้นตามจำนวนการตรวจสอบที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ใช้งาน รวมทั้งการเรียนรู้ปรับกฎด้วยตัวเครื่องเองจากการสืบค้นข่าวและเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
การแสดงผลตรวจสอบจะแสดงความเป็นไปได้ว่าเป็นข่าวจริงหรือปลอม พร้อมทั้งเสนอสรุปเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ใช้งานได้นำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วยตนเอง และยังเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ตรวจสอบที่ผู้ใช้งานสามารถกดเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้อีก
ผู้ใช้งานจะมีข้อมูลมากเพียงพอที่จะพิจารณาว่าควรจะเชื่อหรือส่งต่อข่าวนั้นหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีเมนูใช้งานเพิ่มเติม คือ เมนูข่าวที่มีการพิสูจน์แล้วว่าเป็นข่าวปลอม ซึ่งได้รวบรวมข่าวที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นข่าวปลอมเพื่อให้ผู้ใช้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ และยังมีเมนูข่าวที่ผู้ใช้งานตรวจสอบล่าสุดซึ่งจะแสดงประวัติการตรวจสอบข่าวที่ผู้ใช้งานตรวจสอบแล้วอีกด้วย
การใช้งานดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นให้ประชาชนมีวิจารณญาณในการเปิดรับข่าวสารที่มีทั้งจริงและเท็จ ฉุกคิดเมื่อได้อ่านข่าว และหากสงสัยข่าวใดก็จะสามารถนำข้อความข่าวมาตรวจสอบได้ง่ายสะดวก เป็นการตรวจสอบข่าวก่อนจะส่งต่อ ซึ่งจะช่วยชะลอหรือลดการแพร่กระจายของข่าวปลอม ช่วยลดผลกระทบความเสียหายจากการแพร่กระจายและส่งต่อข่าวปลอมในวงกว้าง นอกจากนี้เครื่องมือตรวจสอบข่าว “ไทยดีไอแมชีน” ยังนำไปสู่การสร้างพฤติกรรมการตรวจสอบข่าวบนสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาข่าวปลอม
รองศาสตราจารย์ ดร. พนม คลี่ฉายา อธิบายเพิ่มเติมว่า “คณะวิจัยเริ่มต้นทำงานจากแนวคิดเบื้องต้นที่จะสร้างเครื่องมือตรวจสอบข่าวปลอมด้วยเทคโนโลยีการวิเคราะห์คำและลักษณะของข่าวปลอม การวิจัยจึงเริ่มจากการวิเคราะห์คำ ภาษา และลักษณะขอบข่าวปลอม และการสำรวจการตอบสนอบต่อข่าวปลอมของประชาชน นำมาพัฒนาเป็น “ไทยดีไอแมชีน” ซึ่งมีความสามารถวิเคราะห์ข่าวปลอมได้ในระดับที่นำมาใช้งานได้ อย่างไรก็ตามความแม่นยำจะเพิ่มมากขึ้นจากที่คณะวิจัยจะปรับกฎวิเคราะห์ให้แม่นยำขึ้น ประกอบกับจำนวนผู้ใช้งานตรวจสอบข่าวที่เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้เครื่องได้เรียนรู้ด้วยตนเองมากขึ้นจนมีความฉลาดขึ้น ผลการตรวจสอบจะแม่นยำขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถขยายผลไปสู่การเป็นส่วนเพิ่มขยายสำหรับเว็บไซต์หรือโปรแกรมสืบค้นสารสนเทศอื่น ๆ ที่จะเพิ่มเติมคำแนะนำผลการสืบค้นที่น่าเชื่อถือ”
สำหรับทิศทางการพัฒนางานวิจัยต่อไป ในฐานะนักวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.พนม คลี่ฉายา กล่าวว่า “การวิจัยต่อไปจะมุ่งพัฒนาให้เครื่องเรียนรู้ (Learn) จนมีความแม่นยำขึ้น ด้วยการพัฒนาระบบการตรวจสอบให้แม่นยำและก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของข่าวปลอม และพัฒนาความสามารถขั้นต่อไปสู่เครื่องที่มีความเข้าใจ (Understanding) ข่าวปลอมมากขึ้น สามารถคิด วิเคราะห์ เข้าใจบริบทของข่าวปลอมได้เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่ง”
“ไทยดีไอแมชีน” เป็นผลงานความร่วมมือด้านวิจัยของหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านความรอบรู้ทางดิจิทัลและการรู้เท่าทันสื่อ (DIRU) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับนักวิจัยจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ตามยุทธศาสตร์การรับมือกับข่าวปลอม การสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายด้านฐานข้อมูลและเครือข่ายด้านวิชาการ ได้แก่ สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์