“ไข้หวัดใหญ่” เกิดจากอะไร และเราต้องป้องกันอย่างไร
ฤดูฝนมาแล้วจ้า พร้อม ๆ กับการระบาดของทั้งไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ เอ และบี เราจะป้องกันได้อย่างไร และเมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์ บทความให้ความรู้โดย พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช กล่าวถึง อาการของโรค สำหรับนำไปเฝ้าระวัง สังเกตตนเองและคนรอบข้าง เพื่อเข้าสู่กระบวนการวินิจฉัย และการรักษาอย่างเหมาะสม บุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อน ที่ควรได้รับวัคซีนป้องกันอย่างเหมาะสม
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) ในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้มีไข้ ไอ น้ำมูก คัดจมูก จาม เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย โดยอาการคล้ายกับไข้หวัด แต่มักจะรุนแรงกว่าและหายช้ากว่า บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ จนทำให้มีอาการหอบเหนื่อยได้
- การแพร่กระจายของเชื้อ
ทางการหายใจ โดยการรับเชื้อที่ปนเปื้อนที่อยู่ในอากาศ จากการ ไอ จาม หรือพูดของผู้ที่ป่วยโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีคนอยู่รวมกันหนาแน่นหรือพื้นที่ปิด เช่น โรงเรียน ออฟฟิต การสัมผัสฝอยละอองน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย จากมือที่สัมผัส แล้วใช้มือสัมผัสที่จมูกและปาก
- บุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการรับเชื้อและการเกิดภาวะแทรกซ้อน
- เด็กที่อายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี
- ผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่อยู่ในระยะ 2 สัปดาห์หลังคลอด
- ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เช่น เบาหวาน หัวใจ ปอด เส้นเลือดสมองตีบ โรคไตเรื้อรัง
- ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2 ชนิด ได้แก่
1. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์
2. วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิด 4 สายพันธุ์
แนะนำฉีดวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ เนื่องจากสามารถครอบคลุมเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอ ทั้ง H1N1 และ H3N2 และสายพันธุ์บี ทั้งตระกูล Victoria และ Yamagata
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์มีประโยชน์อย่างไร?
- ลดติด : ป้องกันการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ครอบคลุมสายพันธุ์มากขึ้น
- ลดตังค์ : ลดค่าใช้จ่ายในการรักษา ลดอัตราการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ลดการขาดงานหรือขาดเรียน
- ลดตาย : ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อน และอัตราการเสียชีวิต
ซึ่งเชื้อ“ไข้หวัดใหญ่” ที่ระบาดในแต่ละปีอาจเป็นสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน เนื่องจากทุกคนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ องค์การอนามัยโลก (WHO) และศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงแนะนำวิธีในการป้องกัน ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่กับเด็กตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และผู้ใหญ่ทุกปี
โดยปี 2566 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แนะนำปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ใหม่ เพื่อคลอบคลุมเชื้อ an A/Victoria/4897/2022 (H1N1) pdm09-like virus หรือ an A/Wisconsin/67/2022 (H1N1) pdm09-like ที่คิดว่าจะระบาดในปีนี้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถฉีดได้ตลอดปี โดยช่วงเวลาที่เหมาะสม คือ ก่อนฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม) และก่อนฤดูหนาว (เดือนตุลาคม) เนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่