ม.เกษตร จัดโครงการพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG ชวนเข้าร่วมการประกวดแข่งขันสร้างโลกเสมือนจริงด้วยเกม Minecraft
ม.เกษตร จัดโครงการพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ.2565 เชิญชวน นักเรียน นิสิต นักศึกษาและผู้ประกอบการ เข้าร่วมการประกวดแข่งขันสร้างโลกเสมือนจริงด้วยเกม Minecraft
เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดา ดอนเมือง แอร์พอร์ต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม Day Camp ครั้งที่ 1 เพื่อให้ความรู้ เกี่ยวกับการออกแบบเกม Minecraft และเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การแข่งขันสร้างโลกเสมือนจริง ที่จะให้ผู้เข้าแข่งขันสร้างสรรค์ผลงานเกี่ยวกับการพัฒนาการใช้พลังงาน จากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาด เพื่อชิงเงินรางวัลรวมมูลค่า 480,000 บาท โดยการแข่งขันนี้อยู่ในโครงการพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2565
แนวคิดหลักของหลักสูตรพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG เน้นการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ การสร้างระบบนิเวศน์ที่หมุนเวียน โดยการนำของเสียจากระบบกลับมาใช้ หรือนำกลับมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนการประยุกต์หลักการเศรษฐกิจสีเขียวและการนำเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่มาใช้ผลิตไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำเพื่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เทคโนโลยีการกักเก็บประจุไฟฟ้า การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสร้างสมดุลของระบบไฟฟ้า
โดยในกิจกรรม Day Camp จะเน้นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎกติกาในการแข่งขันสร้างโลกเสมือนจริง และการให้ความรู้ เกี่ยวกับการออกแบบเกม Minecraft โดยผู้เชี่ยวชาญด้านเกม Minecraft รวมถึงมีการให้ความรู้การตัดต่อ VDO ให้กับผู้เข้าอบรมเพื่อใช้ในการนำเสนอผลงาน ซึ่งก็ได้รับความสนใจจาก นักเรียน นักศึกษาและบุคคลทั่วไปเข้าร่วมอบรมรวมกว่า 80 ทีม
สำหรับกติกาในการแข่งขันสร้างโลกเสมือนจริง แต่ละทีมจะต้องออกแบบเกม Minecraft โดยเลือก 1 หัวข้อจาก 2 หัวข้อ คือ 1) การพัฒนาโลกเสมือนจริง (Creative mode) ประกอบด้วย โลกเสมือนจริงของ Energy Transformation และโลกสีเขียวด้วยพลังงานสะอาด (Green World with Clean Energy) หรือ 2) การพัฒนาเกมเอาตัวรอด (Survival mode) ประกอบด้วย โลกที่เกิน 2 องศา (Over 2 Degree) และเมืองพลังงานยั่งยืน (Sustainable Energy City)
ผู้เข้าแข่งขันที่เลือกหัวข้อการพัฒนาโลกเสมือนจริงจะต้องนำเสนอไอเดียแนวคิดสร้างสรรค์ที่ถูกต้องตรงตามหลักทฤษฎีด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การสร้างแนวคิดที่แตกต่าง มีการจำลองสิ่งปลูกสร้างหรือ landmark ที่มีอยู่จริงในโลกหรือนอกโลก เช่น ฟาร์ม กังหันลม หรือการทำเหมืองในอวกาศ (Space Mining) จำนวน 5-10 สิ่งปลูกสร้าง
ส่วนผู้เข้าแข่งขันที่เลือกหัวข้อการพัฒนาเกมเอาตัวรอด จะต้องนำเสนอไอเดียแนวคิดสร้างสรรค์ที่ถูกต้องตรงตามหลักทฤษฎีและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จำลองสิ่งปลูกสร้าง หรือ landmark ที่มีอยู่จริงในโลกหรือนอกโลก หรือจำลองสถานการณ์เช่น การใช้พลังงานทดแทนเกือบ 100% ในประเทศไอซ์แลนด์ ปรากฏการณ์ไฟไหม้ป่าใน แคลิฟอร์เนีย หรือน้ำแข็งขั้วโลกละลาย โดยต้องสร้างแบบจำลอง 5-10 สิ่งปลูกสร้าง เช่นกัน
ในการคัดเลือกจาก 80 ทีม จะผ่านเข้าสู่รอบ Quarter Final 20 ทีม รอบ Semi Final 10 ทีม และรอบ Final 5 ทีม โดยทั้ง 5 ทีม จะได้สิทธิ์เข้าร่วมงานประกวดจริง ในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2567 ที่ True digital park BTS ปุณณวิถี
สำหรับทีมที่ชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเงินรางวัล 70,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลชมเชย 2 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท รางวัลปลอบใจ 5 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท และรางวัลเกือบร่วง จำนวน 10 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท
ผศ.ดร.กมลพรรณ แสงมหาชัย ผู้อำนวยการศูนย์การจัดการพลังงานและเทคโนโลยีแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการพัฒนาทักษะพลังงานในยุคเศรษฐกิจ BCG กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานสะอาดและสภาพภูมิอากาศ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ควรเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามที่ประเทศไทยวางเป้าหมายเอาไว้ในการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย จึงได้จัดโครงการนี้ขึ้นมาโดยมีกิจกรรมอื่นๆ มากมาย อาทิ กิจกรรม Day Camp วัดทักษะว่ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาบทเรียนที่อบรมมากแค่ไหน และถ้าเข้าใจและมีความคิดสร้างสรรค์ก็สามารถเข้าร่วมแข่งขัน ออกแบบเกม Minecraft สร้างโลกเสมือนจริงของ Energy Transformation และหัวข้ออื่นๆ ได้ ซึ่งตรงนี้ก็ตอบโจทย์นโยบาย Soft Power ของรัฐบาลด้วย จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนเข้าร่วมอบรม โดยกิจกรรม Day Camp จะจัดอีก 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 จัดที่ จ.ชลบุรี วันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมรัตนชล ครั้งที่ 2 จัดที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 10-11 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมศิริปันนา วิลล่า รีสอร์ท แอนด์ สปา และครั้งที่ 3 จัดที่ กทม. วันที่ 16-17 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น นาดา ดอนเมือง แอร์พอร์ต”
สำหรับโปรแกรม Minecraft เป็นวิดีโอเกมแซนด์บ็อกซ์ที่พัฒนาโดยบริษัทพัฒนาเกมจากประเทศสวีเดน สามารถเล่นได้ในหลากหลายแพลตฟอร์มและเป็นเกมที่ขายได้มากกว่า 238 ล้านชุด และมีผู้เล่นที่มีความเคลื่อนไหวต่อเดือนเกือบ 140 ล้านคน ในช่วงปี พ.ศ. 2564
ใน Minecraft ผู้เล่นมีอิสระในการสร้างและสำรวจโลก 3 มิติที่สร้างขึ้นอย่างเป็นกระบวนการในลักษณะบล็อกเหลี่ยมๆ คล้ายตัวต่อเลโก้ ด้วยภูมิประเทศที่แทบไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับโหมดเกมที่จะทำให้ผู้เล่นสามารถต่อสู้กับคอมพิวเตอร์ ตลอดจนร่วมมือหรือแข่งขันกับผู้เล่นอื่นในโลกเดียวกัน โหมดเกมในที่นี้จะประกอบด้วยโหมดเอาชีวิตรอดซึ่งเป็นโหมดที่ผู้เล่นต้องเก็บเกี่ยวทรัพยากรเพื่อสร้างสิ่งต่างๆ และดูแลรักษาความเป็นอยู่ด้วย และอีกส่วนคือโหมดสร้างสรรค์ซึ่งมีทรัพยากรอย่างไม่จำกัดให้แก่ผู้เล่นและยังสามารถเข้าถึงการบินได้ นอกจากนี้ผู้เล่นสามารถดัดแปลงเกมเพื่อสร้างระบบเกม ไอเทม และสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ๆ ได้เช่นกัน