ปทุมธานีโมเดล ต้นแบบศูนย์กักตัวโควิด-19 ลดภาระหมอ
ปทุมธานีโมเดล ต้นแบบศูนย์กักตัวโควิด-19
ลดภาระหมอ ลดชุมชนเสี่ยง
สถานการณ์โควิด-19 ของไทยนับถึง 15 เมษายน พบข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ว่า ผู้ติดเชื้อใหม่ ราว 60% เกิดจากการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อก่อนหน้านี้ ทำให้รัฐบาลประกาศมาตรการเพื่อช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และเพิ่มการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพให้แก่ประชาชน เช่น การประกาศให้สถานพยาบาลเอกชนสามารถออกให้บริการตรวจคัดกรองที่ สถานที่พักผู้ป่วยเป็นการชั่วคราวได้ การเปิดสถานบริการโรงแรมให้เป็นสถานที่พักพิงของกลุ่มผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19 และเพิ่มพื้นที่การตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างครอบคลุม รวมถึงการกักแยกตัวของ ผู้เฝ้าสังเกตอาการ เป็นระยะเวลา 14 วัน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระดับครอบครัว ชุมชนและสังคมวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม พบว่ามาตรการการแยกตัวของผู้เฝ้าสังเกตอาการ 14 วัน เป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่ไม่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการกักตัวให้ห่างจากครอบครัว “ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ตัดวงจรโควิด-19” (Isolation Facility) ที่ จ.ปทุมธานี จึงถูกตั้งขึ้นจากระดมความคิดของคนในหลายสาขาอาชีพ ทั้ง แพทย์ พยาบาล นักเศรษฐศาสตร์ นักปกครอง วิศวกร สถาปนิก ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จับมือเครือข่ายด้านหลักนิติธรรมและการพัฒนา (RoLD) และภาคประชาสังคม ชูยุทธศาสตร์ต้นน้ำ คือ ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ตัดวงจรโควิด-19 เพื่อแยกประชาชนที่เป็นกลุ่มอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง โควิด-19 แต่ไม่มีสถานที่กักตัวที่ดีพอ ให้มีที่พักแยกจากครอบครัวและชุมชน ลดความเสี่ยงของชุมชนที่จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วย
ดังที่ปรากฏในข่าวกรณีคนขับแท็กซี่รายหนึ่งทมีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้โดยสาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ติดเชื่อจาก
สถานบันเทิงย่านทองหล่อ ทำให้คนขับแท็กซี่รายนี้กลายเป็นผู้เข้าเกณฑ์ต้องเฝ้าสังเกตอาการ หรือที่เรียกว่า PUI (patient Under Investigation-PUI) เขาจึงพยายามกักแยกตัวเองตามมาตรการของรัฐ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อสู่ภรรยา บุตร และแม่ยายวัย 70 ปี ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านพื้นที่ เพราะที่พักอาศัยไม่เอื้อต่อการกักแยกตัวอยู่คนเดียว เขาจึงตัดสินใจกู้เงินมา 1,500 บาท เพื่อไปเช่าห้องพักในโรงแรมเล็ก ๆ คืนละ 350 บาท แต่ก็อยู่ได้เพียง 5 วัน โดยสุดท้ายจำเป็นต้องออกมาทำงาน เพราะ เงินที่กู้มา 1,500 บาท หมด และเนื่องจากยังต้องหาเลี้ยงชีพ รวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ต้องรับผิดชอบ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขากลายเป็นผู้นำพาความเสี่ยงมาสู่สังคมโดยไม่มีทางเลือก แต่สุดท้ายผลตรวจออกมาเป็นลบ คือ เขาไม่ติดเชื้อ จากกรณีนี้ ทำให้เห็นได้ว่า อาจมีประชาชนกลุ่มที่เป็น PUI อีกจำนวนมาก ที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน และยังไม่มีทางออกว่าจะต้องกักตัวเองอย่างไร เพราะไม่มีสถานที่ที่ดีพอ และบางส่วนอาจจะไม่กล้าแสดงตัว เนื่องจากกลัวถูกรังเกียจจากสังคม จึงกลายเป็นความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายเชื้อ นั่นทำให้การมีสถานที่กักแยกตัวของกลุ่ม PUI จะทำให้คนกลุ่มนี้ กล้าที่จะแสดงตัวมากขึ้น และทำให้คนอื่น ๆ ในครอบครัวและชุมชน ไม่ตกอยู่ในความเสี่ยง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึง ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกปทุมธานี ต้าน COVID-19 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ต้นน้ำในกระบวนการจัดการกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยโคโรน่าไวรัส 2019 นี้ว่า “ความร่วมมือในการจัดตั้งศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกโดยเริ่มที่ปทุมธานีในครั้งนี้ เพราะเรามองว่า การเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่ทุกคนควรได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมเป็นเรื่องสำคัญ และเป็นเรื่องที่ต้องสร้างความเข้าใจของทุกภาคส่วน ตั้งแต่ระดับปัจเจก จนถึง ระดับชุมชน สังคม ซึ่งหากมองในเชิงยุทธศาสตร์ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกไม่ได้นำผู้ติดเชื้อมาพักอาศัย จึงไม่ใช่สถานพยาบาล แต่เป็นที่พักอาศัยระหว่างกักแยก ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกจึงเป็นกระบวนการต้นน้ำที่จะช่วยลดการแพร่กระจายของไวรัสที่อาจจะเกิดขึ้นกับคนในครอบครัวหรือชุมชน ดังนั้น ต้นน้ำก็ยังรวมถึงชุมชนสังคมด้วย ส่วนกลางน้ำ คือ โรงพยาบาล (hospital) และปลายน้ำ คือ การจัดตั้งโรงพยาบาลพิเศษโรงพยาบาลสนาม (cohort hospital)”
กระบวนการทำงานของศูนย์ฯ คือ ผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในศูนย์ฯ ต้องผ่านการคัดกรองจากจังหวัด ปทุมธานี และเดินทางมาที่ศูนย์ด้วยรถพยาบาลที่มีมาตรการในการป้องกันการติดเชื้อตามมาตรฐาน เมื่อถึงศูนย์ฯ จะมีเส้นทางที่กำหนดให้เดินตามทางโดยเฉพาะ และมีพยาบาลในชุด PPE อำนวยความสะดวกให้ทั้งหมด ตั้งแต่การกดลิฟต์รอ จนถึงเปิดห้องรอ ผู้ที่เข้ารับการกักแยกสามารถเข้าใช้บริการที่ศูนย์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
พร้อมมีบริการเครื่องอุปโภคบริโภค รวมถึงอาหารครบ 3 มื้อ และสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ โดยใช้อินเทอร์เน็ตฟรีภายในศูนย์ หากผู้เข้าพักไม่พบอาการติดเชื้อหลัง 14 วัน จะถูกส่งตัวกลับบ้านอย่างปลอดภัยไม่เป็นพาหะแพร่เชื้อให้ครอบครัว แต่หากผู้ใดพบอาการที่มีแนวโน้มว่าเป็นผู้ติดเชื้อ ก็จะถูกส่งตัวเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (hospital) อย่างทันท่วงที กระบวนการนี้จะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อในชุมชนและแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้
ดร.อณูวรรณ วงศ์พิเชษฐ์ รองผู้อำนวยการ และ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และแผน TIJ อธิบายเพิ่มเติมถึงกระบวนการต้นน้ำของศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกปทุมธานี ที่จะช่วยควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่า “ถ้าเราจัดการต้นน้ำได้เร็ว ก็ช่วยลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อในชุมชน การระบุตัวได้เร็ว (early identification ) การกักแยกตัวเร็วตั้งแต่ระยะสังเกตอาการ (early isolation) การส่งต่อรักษาได้เร็ว (early treatment) โอกาสหายเร็ว”
“การทำงานของศูนย์ฯ จะเน้นความปลอดภัยตามมาตรฐานสาธารณสุข รวมไปถึงระบบขนย้าย ผู้เข้ารับการกักแยก หรือส่งตัวผู้มีอาการป่วย การดูแลสุขภาพอนามัยแบบแยกตัว ในระยะปลอดภัย รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ในศูนย์ที่ได้มาตรฐาน การดูแลกิจกรรมสุขภาพจิต และส่งเสริมการพึ่งพาตัวเองของชุมชนในรูปแบบการแบ่งปันของใช้จำเป็น โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากสังคมภายนอกเท่านั้น” ดร.อณูวรรณ กล่าวเสริม
ประเด็นสำคัญ คือ การดำเนินงานที่จะทำให้ศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยก ปทุมธานี แห่งนี้ สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องคำนึงและเน้นถึงหัวใจหลักสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนแรก ผู้ให้บริการ คือ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ทีมงานสนับสนุน แม่บ้าน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและเจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานจากภายนอก ส่วนที่สอง คือ ผู้รับบริการ หรือ ผู้ที่ต้องกักแยกเป็นเวลา 14 วัน ที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลทั้งอาหารการกิน ที่พัก และการบริการสุขภาพอนามัยพื้นฐานรวมถึงสุขภาพจิต ส่วนที่สาม คือ ชุมชน ที่ต้องได้รับความรู้ที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการประพฤติตนเพื่อให้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19
การดำเนินงานในศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกปทุมธานีให้ความสำคัญกับชุมชนด้วยการประสานงานกับผู้นำท้องถิ่น สร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนถึงผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ เช่น หากมีผู้ที่เข้าข่ายต้องกักตัวในขุมชนก็จะสามารถเข้ามาพักยังศูนย์ฯ ดังกล่าวได้ อีกทั้งชุมชนยังจะได้มีรายได้จากการจ้างงานให้เป็นเจ้าหน้าที่ในศูนย์ฯ อีกด้วย ดังนั้น การเปิดให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น ร่วมคัดกรองผู้เข้าข่ายเป็นกลุ่มเสี่ยงเป็นด่านแรก เพื่อส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ พิจารณา จึงเป็นความร่วมมือสำคัญ
ทิศทางการดำเนินงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนของศูนย์ที่พักอาศัยเพื่อการกักแยกปทุมธานี เป็นการประยุกต์แนวคิดของ TIJ ที่ดำเนินงาน และสนับสนุนประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านความยุติธรรมมาโดยตลอด ดังนั้น การทำให้ทุกคนเข้าถึงการบริการต่าง ๆ ในสังคม ทั้งในเรื่อง ความยุติธรรม หรือ แม้แต่การบริการทางสุขภาพ จึงเป็นหน้าที่สำคัญในฐานะหน่วยงานที่ปฏิบัติงานตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อย่างไรก็ดี การดำเนินงานดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่เพียงเฉพาะในระดับปัจเจก แต่รวมถึงระดับชุมชน สังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อทุกฝ่ายต่างเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการสร้างให้เกิดต้นแบบแห่งความร่วมมือ และเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถฝ่าฟันวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกันอย่างเท่าเทียม