รมว.ทส. ลงพื้นที่ ผนึกสรรพกำลัง ถอดบทเรียนแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ
รมว.ทส. ลงพื้นที่ ผนึกสรรพกำลัง ถอดบทเรียนแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตรวจเยี่ยมและให้แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันน ปี 2564 ในงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563
โอกาสนี้นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และผู้แทนหน่วยงานใน ๙ จังหวัดภาคเหนือ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมรับฟังแนวทางการดำเนินงาน ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โดยโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ แต่ละจังหวัดมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องมาพูดคุยกัน การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนมีความสำคัญมาก ในปีที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ทั้งกองทัพภาคที่ 3 และฝ่ายปกครอง ทั้งนี้ แต่ละปีมีปัญหาแตกต่างกันไป ข้อจำกัดเงื่อนไขต่างๆต้องเอามาเป็นบทเรียน การถอดบทเรียนเป็นเวทีที่เปิดให้ทุกภาคส่วนมาคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผิดถูกไม่มีใครว่า ไฟป่าไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน บางครั้งบางกลุ่มมีเป้าหมายแตกต่างไป แต่ ทส.มีเป้าหมายฝุ่นละอองลดลงทุกจังหวัด ไม่ใช่จังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง ท่านนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญในเรื่องไฟป่าเป็นลำดับต้นๆ ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องโควิด-19 แต่ปัญหาไฟป่า ท่านให้ความสำคัญไม่แพ้กัน และกำชับให้ รมว.ทส. ปกท.ทส. และเจ้าหน้าที่ ทส. ทำงานอย่างเต็มที่ สุดท้ายนี้ขอให้กำลังใจทุกภาคส่วน ในการทำงานร่วมกันให้เกิดความสำเร็จ
การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อสรุปผลและถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 ในครั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2563 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และร่วมถอดบทเรียนผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขปัญหาจากภาคเอกชน ประชาชน จิตอาสา NGOs และนักวิชาการ ในทุกด้านทุกมุมมอง เพื่อนำมาสรุปและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือที่เหมาะสมและยั่งยืนต่อไป
ทั้งนี้ ในการประชุมวันนี้ เป็นการประชุมต่อเนี่องเป็นวันที่ 2 โดยมีการประชุมกลุ่มย่อย ที่ 3 ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ จากนั้น นายพงศ์บุณย์ ปองทอง รองปลัดกระทรวงทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน (ส่วนหน้า) ได้สรุปผลการประชุมกลุ่มย่อย ทั้ง 3 กลุ่มมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. กลุ่มย่อยที่ 1 ในส่วนของเจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการหารือถึงสาเหตุของปัญหา ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะการทำงาน โดยเฉพาะประเด็นหลัก ดังนี้
– การถ่ายโอนภารกิจการควบคุมไฟป่าให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หารือกับกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการกระจายอำนาจ เพื่อหาแนวทางให้การถ่ายโอนภารกิจ มีผลบังคับใช้และเกิดผลในทางปฏิบัติ
– การจัดการเชื้อเพลิง ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามช่วงเวลาและยังไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งที่ประชุมเห็นควรให้เร่งจัดการเชื้อเพลิงก่อนเข้าช่วงสถานการณ์หมอกควัน โดยไม่นำเอาจุดความร้อน (Hotspot) มาเป็นตัวชี้วัด ทั้งนี้ เมื่อเข้าช่วงหมอกควัน ให้จัดระเบียบการเผา ดำเนินการเผาแบบควบคุม โดยไม่ให้ฝุ่นละอองสูงจนเกินเกณฑ์มาตรฐาน และให้จังหวัดพิจารณาการใช้มาตรการขอความร่วมมือให้ประชาชนจัดการเชื้อเพลิงภายใต้การควบคุม ตามที่ภาครัฐกำหนด โดยไม่ต้องกำหนดช่วงห้ามเผา
– เพื่อความถูกต้องในการวิเคราะห์ข้อมูล ให้ อส. และ ปม. จัดส่งขอบเขตพื้นที่เกษตรกรรมในป่า ให้ GISTDA ในการประมวลผลข้อมูลพื้นที่ที่เกิดจุดความร้อน ซึ่งจะช่วยให้การกำหนดแผนงานในการบริหารจัดการมีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. กลุ่มย่อยที่ 2 ในส่วนของภาคประชาชน เห็นพ้องให้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน อีกทั้งให้มีการบูรณาการการดำเนินงานให้เชื่อมโยงกันทุกระบบ ตลอดจนให้มีการบริหารจัดการเชิงพื้นที่เป็นหลัก
3. กลุ่มย่อยที่ 3 ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ โดยทุกหน่วยงานต้องมีการคุมเข้มและบังคับใช้กฎหมายในความรับผิดชอบอย่างจริงจัง และใช้กลไกระดับหมู่บ้าน ตำบล โดยเฉพาะประชาคมหมู่บ้าน ให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน เพื่อร่วมเฝ้าระวังและจัดชุดดับไฟขั้นต้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐจะสนับสนุนกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนรักษาป่าในทุกพื้นที่อย่างเข้มแข็งต่อเนื่องกันไปอย่างยั่งยืน