“จังหวัดสตูล” เจ้าภาพ APGN 2022งานจัดประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 7
จังหวัดสตูล ประเทศไทย ได้รับเลือกเป็นเมืองเจ้าภาพการจัดประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 7 (The 7thAsia Pacific Geoparks Network Symposium) ภายใต้ธีม UNESCO Global Geoparks Building Sustainable Communities ระหว่างวันที่ 4 – 11 กันยายน 2565 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา วิทยาเขตสตูล และพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสตูล อำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า และอำเภอมะนัง และพื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดสตูล โดยจะให้การต้อนรับสมาชิกจากเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก สมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทย ชุมชนการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณี หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของการจัดงานผ่านสื่อต่าง ๆ กว่า 1,000 คนทั่วโลก
นายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า “การประชุมฯ ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้สมาชิกเครือข่ายฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดการมีส่วนร่วมและสนับสนุนการดำเนินการเครือข่ายอุทยานธรณีโลก UNESCO Global Geopark ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และทั่วโลกรวมทั้งเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทย อีกทั้งเพื่อเป็นเกณฑ์คะแนนในการประเมินต่ออายุอุทยานธรณีโลกสตูล ในปี 2565 นอกจากนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว และส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูล และแหล่งท่องเที่ยวในทะเล พร้อมนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชุมชนอุทยานธรณีโลกสตูลในพื้นที่ ทั้งในแง่ของศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักของชาวไทยและชาวต่างประเทศในวงกว้าง”
นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการจัดงานในครั้งนี้ว่า “ทางจังหวัดสตูล มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ พร้อมด้วยที่พัก สถานที่จัดประชุม สถานที่ท่องเที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีการจัดเตรียมการต้อนรับที่แสดงถึงความเป็นไทยตามเอกลักษณ์อย่างงดงาม
นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมต่างๆ ควบคู่ไปกับการประชุม APGN อาทิ การประชุมคู่ขนาน Geofair, นิทรรศการ Intangible Heritage, บูธจำหน่ายสินค้าของอุทยานธรณีระดับโลกและระดับท้องถิ่น, และกิจกรรมสำรวจเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญถึง 3 เส้นทาง เพื่อนำเสนอความเป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชุมชนอุทยานธรณีโลกสตูลในพื้นที่ ทั้งในแง่ของศิลปวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมอีกด้วย”
สำหรับจังหวัดสตูล มีเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดสตูล ภายใต้แนวคิด “เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อุทยานธรณีโลก เศรษฐกิจมั่นคง สังคมน่าอยู่สันติสุขยั่งยืน ประตูสู่อาเซียน” โดยมุ่งเน้นในการเสริมสร้างเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุทยานธรณีโลก การท่องเที่ยว การเกษตร และการค้าสู่อาเซียน ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นการท่องเที่ยวแหล่งต่างๆ เพื่อยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดสตูลและพื้นที่ฝั่งอันดามัน ให้มีความมั่นคง มั่นคั่ง และยั่งยืน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านธรณีวิทยาและด้านอื่นๆ พร้อมกระตุ้นการท่องเที่ยวในภูมิภาค สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้จังหวัดเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน APGN 2022 ได้ที่ http://satunapgn2022.org/